ประวัติความเป็นมา
ปี พ.ศ. 2516 อาจารย์และข้าราชการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รวมตัวกันก่อตั้งสภาคณาจารย์ขึ้นในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรียกชื่อว่า “สภาอาจารย์และข้าราชการพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” โดยจัดทำข้อบังคับขึ้นและประกาศใช้เป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ
– กรรมการประเภท ก. ได้จากการเลือกตั้งของอาจารย์และข้าราชการในแต่ละภาควิชา หรือ แผนก หรือ กอง ของคณะวิทยาลัย สำนักรองอธิการบดี รวม 18 คน
– กรรมการประเภท ข. เป็นตัวแทนโดยการสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปมีจำนวนเท่ากับประเภท ก. คือ 18 คน
ปี พ.ศ. 2518 มีสมาชิกสภาคณาจารย์และข้าราชการ ชุดแรก ขึ้นตามความในข้อบังคับว่าด้วย สภาอาจารย์และข้าราชการพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2517 จนถึงปี
พ.ศ. 2525 เมื่อ มีการแบ่งแยกการบริหารงานของสถาบัน 3 แห่ง เป็นอิสระไม่ผูกพันกัน
ปี พ.ศ. 2525 สภาคณาจารย์และข้าราชการ (ชุดรักษาการ) ได้มีการจัดร่างข้อบังคับ ว่าด้วย สภาอาจารย์และข้าราชการ ฉบับใหม่ขึ้นบังคับใช้
ปี พ.ศ. 2529 มาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2528 ให้มีสภาคณาจารย์ และมีสมาชิกซึ่งเลือกตั้งขึ้นมาจากคณาจารย์ประจำของสถาบัน จำนวนสมาชิก คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการเลือกตั้งวาระการดำรงตำแหน่ง การดำเนินงานของสภาคณาจารย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันในมาตรา 16 และมาตรา 17 ระบุให้สภาคณาจารย์มีหน้าที่ให้คำปรึกษา และข้อเสนอต่ออธิการบดี และหน้าที่อื่นตามที่สภาสถาบันหรืออธิการบดีมอบหมาย
ปี พ.ศ. 2529 สถาบันฯ ตราข้อบังคับว่าด้วย สภาคณาจารย์ พ.ศ. 2529 จากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2528 เมื่อปี พ.ศ. 2529 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ประกอบด้วยสมาชิกสภาคณาจารย์ 2 ประเภท มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ซึ่งสมาชิกสภาคณาจารย์ ทั้ง 2 ประเภท
ต้องเป็นคณาจารย์และเลือกตั้งขึ้นโดยคณาจารย์ของสถาบัน
– ประเภทตัวแทนหน่วยงาน โดยรับสมัครเลือกตั้งจากตัวแทนหน่วยงาน หน่วยงานละ 3 คน
– ประเภทตัวแทนทั่วไป โดยรับสมัครเลือกตั้งทั่วไป มีจำนวนกึ่งหนึ่งของตัวแทนหน่วยงาน
ปี พ.ศ. 2536 กลุ่มตัวแทนข้าราชการของมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวน 14 แห่ง ร่วมประชุมสัมมนา
ในโครงการสัมมนาสภา/ชมรมข้าราชการ ผลการประชุม ได้จัดตั้งที่ประชุมประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ที่ประชุมประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย หรือ ปขมท.” การสัมมนาในครั้งนั้นมีผู้แทนข้าราชการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวน 4 ท่าน เข้าร่วมสัมมนา ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2536 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ นายสุจิตร ยุกตะเวทย์ นายชวลิต เข่งทอง นางมาลีรัตน์ ผลพาณิชย์ และนางสาวจรินรัตน์ รัมโพช
ปี พ.ศ. 2536 ผู้แทนข้าราชการ จำนวน 4 ท่านของสถาบัน รายงานสรุปผลการสัมมนาและหารือเรื่องจัดตั้งสภาข้าราชการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของที่ประชุม ปขมท. โดยความร่วมมือของประธานสภาคณาจารย์ ในขณะนั้น ร่วมให้คำปรึกษาและจัดทำร่างข้อบังคับสถาบันว่าด้วยสภาข้าราชการ เสนอต่ออธิการบดี
ปี พ.ศ. 2540 สถาบันฯ ตราข้อบังคับ
ว่าด้วยสภาข้าราชการ พ.ศ. 2540 ขึ้น บังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2540 (สภาข้าราชการยุติบทบาทลงเมื่อมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และจัดตั้งสภาคณาจารย์และพนักงานซึ่งมีผลบังคับใช้
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551) องค์ประกอบของสภาข้าราชการ พ.ศ. 2540 มาจากการเลือกตั้งดังนี้
– ประเภทตัวแทนหน่วยงาน ซึ่งข้าราชการของหน่วยงาน เป็นผู้เลือกตั้งขึ้น อย่างน้อยหน่วยงานละ 1 คน และเพิ่มเติม ให้คิดต่อจำนวนข้าราชการในหน่วยงานนั้น 50 คน ต่อกรรมการ 1 คน และเศษของจำนวนข้าราชการที่เกินกึ่งหนึ่งให้เพิ่มกรรมการได้อีก 1 คน
– ประเภทตัวแทนทั่วไป ซึ่งข้าราชการของสถาบันเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น มีจำนวนกึ่งหนึ่งของ กรรมการ
ปี พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะทำงานจัดตั้งสภาพนักงาน ขึ้นเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อประสานงาน และจัดทำร่างข้อบังคับว่าด้วยสภาพนักงาน เนื่องจากในขณะนั้นจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างทดแทนอัตราข้าราชการที่ถูกยุบเลิกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และกฎหมายที่รองรับระบบพนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่ชัดเจน และเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาสถาบันฯ และมอบหมายกองบริหารและจัดการทรัพยากรมนุษย์ ยกร่างข้อบังคับว่าด้วยสภาพนักงาน และนำเสนอต่อคณะทำงานชุดนี้พิจารณา
ปี พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยได้ตราข้อบังคับว่าด้วย สภาพนักงาน พ.ศ. 2549 และประกาศใช้บังคับ
ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 (สภาพนักงานยุติบทบาทลงเมื่อมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และจัดตั้งสภาคณาจารย์และพนักงานซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551) องค์ประกอบของสภาพนักงาน พ.ศ. 2549 มาจากการเลือกตั้งดังนี้
– ประเภทผู้แทนหน่วยงาน ซึ่งพนักงานประจำของหน่วยงาน เป็นผู้เลือกตั้งขึ้น จำนวน 1 คน
– ประเภทผู้แทนทั่วไป ซึ่งพนักงานในสังกัดสถาบันเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น มีจำนวนไม่เกินครึ่งหนึ่งของ กรรมการประเภทแรก กรณีมีเศษให้ปัดทิ้ง
ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2550 ให้มีสภาคณาจารย์และพนักงาน และมีสมาชิกซึ่งเลือกตั้งขึ้นมาจากพนักงานมหาวิทยาลัย จำนวนสมาชิก คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการเลือกตั้งวาระการดำรงตำแหน่ง การดำเนินงานของสภาคณาจารย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และในมาตรา 37 ระบุให้สภาคณาจารย์และพนักงานมีหน้าที่ให้คำปรึกษา และข้อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี
ในการบริหารกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมจริยธรรมของพนักงานมหาวิทยาลัย ผดุงเกียรติของพนักงานมหาวิทยาลัย สร้างและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่พนักงานมหาวิทยาลัย และหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย โดยมีบทเฉพาะกาลใน มาตรา 76 แห่งพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยฯ พ.ศ. 2550 ในขณะที่ยังมีข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ให้ข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการมีสิทธิเป็นสมาชิกหรือมีส่วนร่วมในกิจการสภาคณาจารย์ และพนักงานโดยเท่าเทียมกับพนักงานมหาวิทยาลัย
ปี 2551 มหาวิทยาลัยฯ ตราข้อบังคับว่าด้วย สภาคณาจารย์และพนักงาน พ.ศ. 2551 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคณาจารย์และพนักงาน ชุดแรก ขึ้นตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยฯ พ.ศ. 2550 โดยเริ่มวาระตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2553 และได้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีในข้อบังคับ มาจนถึงปัจจุบัน
สภาคณาจารย์และพนักงาน อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 7 ห้อง 705-706
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 1518 ถนนประชาราษฏร์ 1 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพ 10800
02-586-9005 โทรภายใน 1101,1102